วันพุธที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

“พูดนั้นสำคัญไฉน...?”









ยอมรับกับตัวเองเถอะครับว่า บางทีเจ้าคำถามง่าย ๆ สั้น ๆ อย่างนี้ก็ทำคุณตกม้าตาย จนปัญญาไม่รู้จะตอบอย่างไรให้ได้ถ้อยกระทงความ หรือบางครั้งหากตอบได้ (พอถูไถ) ก็อาจพาลสับสนว่า...ถูกต้องครับ(หรือไม่)?! ...ฉะนั้นอะไร? คือคำตอบที่แท้จริง อย่ารอช้าเลยครับ ไปแสวงหาคำตอบด้วยกันกับผมเลยดีกว่า

อะไรคือ “การพูด” ?
ถ้าจะสาธยายแบบง่าย ๆ ให้เข้าใจในบัดดล “การพูด” ก็คือ การติดต่อสื่อสารผ่านทางภาษา น้ำเสียง กิริยาท่าทาง สีหน้า หรือแม้แต่แววตาที่บางครั้งก็สามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดได้ตามจุดประสงค์ที่เราต้องการได้ดีกว่าที่เราคิดซะอีกนะครับ ไม่งั้นจะมีคนพูดว่า “ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ” ได้หรือ? แต่ก็มีหลายครั้งหลายเหตุการณ์ที่กระทั่งคนใหญ่คนโตก็สื่อสารล้มเหลวแบบหมดท่าประมาณว่าพูดเท่าไหร่คนฟังก็ส่ายหัวไม่เข้าใจ ไป ๆ มา ๆ ทั้งคนพูดและคนฟังก็ต้องมานั่นงงกันเองว่าไอ้ที่พูดไปฟังไปน่ะมันอะไรกัน?
แต่ที่แน่ ๆ ไม่ใช่สักว่า “เปล่งวาจาออกจากปาก” เท่านั้นนะครับ เพราะอย่างนั้นเขาเรียกว่า “เม้าท์” โดยสัญชาติญาณทางธรรมชาติ(ขอยืมศัพท์แสงของวัยสะรุ่นหน่อยนะครับ) “การพูด” อาจมีพื้นฐานมาจากการ “เม้าท์” ก่อนก็จริง ทว่า “เม้าท์” ยังไงถึงจะได้ผลชะงัด ข้อนี้ล่ะที่คนเราต้องอาศัยการศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งจะมองว่ายากก็ไม่เท่าไหร่นะ แต่จะว่าง่ายก็ไม่เชิงซะทีเดียว เอาเป็นว่าเรามาทำความเข้าใจในเรื่องของ “การพูด” เพื่อปูพื้นฐานกันก่อนดีกว่า
อย่างแรกที่ต้องรู้คือ การพูดคือส่วนผสมของ “ศาสตร์” และ “ศิลป์” ซึ่งถ้าสามารถแบ่งสรรปันส่วนให้พอเหมาะพอเจาะลงตัว เท่ากับคุณได้กำชัยชนะเอาไว้ในมือเลยทีเดียว เปรียบไปก็เหมือนกับ “ศาสตร์” เป็นหลักการโครงร่าง ที่ต้องอาศัยหัวใจของ “ ศิลปะ” ช่วยเติมเต็มให้สมบูรณ์ เพราะถ้าหลักการไร้ซึ่งศิลปะในการนำเสนอก็เปล่าประโยชน์ เพราะการพูดเป็นอาหารที่ต้องเสิร์ฟอย่างมีศิลป์ ด้วยรสชาดที่กลมกล่อมเข้ากัน และหากมีน้ำจิ้มเลิศรสช่วยเสริม อาหารจานนั้นก็จะอร่อยเหาะอย่าบอกใครเชียว
การพูดสื่อความหมายได้ดีที่สุด เพราะทำได้ง่ายมาก ไม่ต้องใช้อุปกรณ์เสริมสารพัดชนิดก็เข้าใจได้ ซ้ำยังสะดวกรวดเร็ว และประหยัดสตางค์ในกระเป๋าอีกด้วย แม้จะมีบางเสียงแอบเถียงว่าไม่จริงซะหน่อย เพราะพูดทีไรคนฟังคิดไปคนละทางคนละเรื่องตลอด เลยพาลโทษคนอื่นว่า “ฟังไม่ได้ศัพท์จับมากระเดียด” ผมขอแนะนำแบบเป็นกลางอย่างคนไม่มีเอี่ยวด้วยนะ คืออย่าเพิ่งเอาความผิดไปโปะใส่คนฟังเลยครับ คนพูดควรพิจารณาตัวเองควบคู่ไปด้วย แล้วค่อยหาข้อสรุป(อย่างเป็นกลางเหมือนกัน)ดีกว่าว่า คนพูด พูดไม่เป็นศัพท์(ปะ-รด) หรือคนฟังชอบจับมากระเดียดกันแน่
การพูดช่วยเสริมบุคลิกภาพ เคยได้ยินประโยคนี้ไหม “คารมเป็นต่อ รูปหล่อเป็นรอง” เราถึงได้เห็นบ่อย ๆ ว่ามีผู้ชายหน้าตาดูไม่จืดควงมากับสาวหน้าสวยเด้งยังกะนางงาม แต่หากเราได้รู้จักผู้ชายคนนั้นก็อาจพบความจริงว่า “คารม” เค้า “ไม่จืด(อย่างหน้าตา)” ซักนิด แถมยิ่งคุยยิ่งมีเสน่ห์ดูดีมีสกุล อย่าแปลกใจนะถ้าคุณเจอคนอย่างนั้น จงเข้าใจเถอะว่ามันเป็นไปได้ เพราะคนที่รู้จัก “พูด” จะมีความเชื่อมั่นในตัวเอง และกล้าสบตาผู้อื่น แลดูมีบุคลิกภาพน่าเชื่อถือ ผิดกับคนที่พูดทีไรก็อึกอัก เสียงสั่น เหงื่อแตกพลั่ก แม้วาจาที่เปล่งออกมาจะเยี่ยมยอดขนาดไหน ก็บั่นทอนความคมเฉียบของคำพูดนั้นให้ด้อยค่าลงทันตาเห็นได้เหมือนกัน
การพูดสร้างผู้นำ ผมไม่ได้หมายถึง นักการเมือง ผู้บริหาร เท่านั้นนะครับ พนักงานธรรมดา ๆ ก็เป็นผู้นำได้ หาก “กล้า” แสดงความคิดเห็น และรู้จักใช้วาทศิลป์ เพราะคนเป็นหัวหน้าต้องรู้จักสั่งการ วันนี้คุณอาจเป็นแค่ลูกน้อง แต่ในอนาคต “ความกล้าพูด” ของคุณอาจเป็นประตูสู่โอกาสเลื่อนขั้นก็ได้ กรณีนี้ไม่ได้หมายถึงการใช้ปาก “ชะเลีย” เจ้านายนะครับ อย่าเข้าใจผิด
การพูดสร้างมนุษย์สัมพันธ์ เห็นได้ชัดว่า คนที่ “พูดเป็น” มักห้อมล้อมไปด้วยมิตรสหาย แต่คน “พูดไม่เป็น” อย่างที่เขาเรียกว่า “พูดไม่เข้าหูคน” จะทำให้บรรยากาศอึดอัดโดยไม่รู้ตัว เปิดปากทีไรเป็นได้เรื่อง (หรือบางทีก็ได้เลือดนะ ผมว่า) จะว่าขาดเสน่ห์ก็ไม่ผิดนัก เพราะการพูดเป็นดาบสองคมมีทั้งคุณและโทษในตัวเอง ทั้งสร้างสรรค์สิ่งดีงามจรรโลงโลกและทำลายล้างให้ย่อยยับคาตาได้เช่นเดียวกัน ในที่นี้ตัวคนใช้ดาบอาจโดนลูกหลงไปด้วยก็ได้
การพูดสร้างประชาธิปไตย ผมว่าประชาธิปไตยมีได้หลากหลายความหมายนะ การแสดงความคิดเห็นก็อยู่ในหมวดนี้ด้วย ถ้าทุกคนเอาแต่ใบ้กิน ให้ช่วยออกความเห็นอะไรก็ “No comment” ท่าเดียว คงไม่มีคำว่า “ประชาธิปไตย” บัญญัติอยู่ในพจนานุกรม บ้านเมืองคงเต็มไปด้วยพวก “อะไรก็ได้” แล้วรอคอยให้คนอื่นฟันธงอยู่ร่ำไป ฉะนั้นมาพูดเพื่อ “ประชาธิปไตย” กันเถิดครับ ชาติจะได้พัฒนา